TC คืออะไร

T.C. คืออะไร ?

 

ชุมชนบำบัด - T.C. หรือ Therapeutic Community เป็นกระบวนการในการบำบัดรักษาที่ให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยจำลองรูปแบบการดำรงชีวิตในสังคม เพื่อสร้างการพัฒนาที่ครอบคลุมในด้านต่างๆ ของบุคคลที่เข้ารับการอบรมและพัฒนาจิตใจ โดยเริ่มตั้งแต่การจัดการพฤติกรรม ความสามารถ แนวความคิด วุฒิภาวะและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ให้เกิดการเรียนรู้ เกิดความเข้าใจในตัวเอง และเสริมสร้างความมั่นใจ จนสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้แบบสุขเป็น ทุกข์เป็น โดยที่ไม่ต้องพึงพายาเสพติดอีก

 

     ชุมชนบำบัดนั้น มีความเชื่อที่ว่าบุคคล สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยอาศัยกลุ่มสังคมในชุมชนบำบัดที่จะเป็นแรงผลักดัน เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อันประกอบไปด้วย การให้บทบาทและความรับผิดชอบ ในโครงสร้างที่เหมาะสม เพื่อเป็นการฝึกฝนจนสร้างเป็นอุปนิสัย

 

     จากแนวคิด ของ Maxwell Jones (มงคล มณฑา, 2544) หลักการทำงานและการดำเนินการกลุ่มของชุมชนบำบัดสามารถแบ่งได้ 6 ประเภท ดังนี้

  1. สามารถมีการสื่อสารถึงกันได้ทุกระดับ
  2. ทุกระดับสามารถทำการตัดสินใจได้
  3. การผลัดเปลี่ยนบทบาทการเป็นหัวหน้า
  4. ถือมติส่วนใหญ่ในการตัดสินใจ
  5. หลักการเรียนรู้ทางสังคมนั้น เกิดจากการมีปฏิกริยาการตอบโต้ซึ่งกันและกันในทางสังคม โดนยึดถือหลักที่นี้และเดี๋ยวนี้ (Here & Now)
  6. สิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในการบำบัด ดังนั้น ชุมชนบำบัดจะไม่มีการรักษาเฉพาะตัว แต่จะต้องทำการวางแผนการบำบัดแบบเฉพาะตัว เพื่อช่วยให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถพัฒนาพฤติกรรมในกลุ่มได้

    

     นอกจากนั้น ชุมชนบำบัด ยังยึดถือหลักการการเรียนรู้ทางสังคมแบบพึงพาตนเอง เป็นรูปแบบในกระบวนการเรียนรู้ (Self-help Social Learning Treatment Program Model) โดยมีความเชื่อที่ว่า

  1. การเรียนรู้เกิดจาก สิ่งเร้า การท้าทาย และการลงมือทำ ปฏิบัติจริง
  2. ความเข้าใจในมนุษย์ และการเป็นสากลของมนุษย์ (คนเหมือนคน แต่คนไม่เหมือนกัน)
  3. การเปิดเผยตัวตน ที่ไม่ใช่เพียงแค่การแสดงออกทางพฤติกรรม แต่รวมไปถึง ความรู้สึกนึกคิด ความหวาดกลัว ความหวัง ฯลฯ
  4. การเข้าถึงตัวตนภายใน ทั้งอย่างที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยคณะเจ้าหน้าที่

 

     โดยมีวัตถูประสงค์เบื้องต้นคือ

  1. สามารถดำรงชีวิตโดยไม่พึงพายาเสพติดได้
  2. สามารถเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตได้
  3. สามารถสร้างทัศนคติที่ดีต่อตนเองได้ รู้สึกถึงความมีคุณค่าในตนเอง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นตนเอง และลดพฤติกรรมการต่อต้านจากสังคม
  4. สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

 

     ทั้งนี้ชุมชนบำบัดนั้น อาศัยทฤษฎีพื้นฐานการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory) ประกอบไปด้วย

  1. กระบวนการของกลุ่ม
  2. พลังจากกลุ่มเพื่อน (Positive Peer Presure)
  3. การสังเกตและบันทึกพฤติกรรม
  4. การเป็นแบบอย่างที่ดี (Role Model)
  5. การเรียนรู้จากประสบการณ์ (Learning Experience)
  6. ความเชื่อในระบบภายในชุมชน (System Belief)
  7. อุปสรรคมีผลต่อการพัฒนาพฤติกรรม

อ้างอิงจากหนังสือ รู้ลึก...ชุมชนบำบัด โดย นรัญญา ศรีบูรพา

 

Visitors: 323,051